ชิปปิ้ง หรือการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยทั่วไปแล้ว ย่อมมีความเกี่ยวพันกับเรื่องของการติดต่อสื่อสาร การซื้อขาย การส่งมอบสินค้า การขนส่ง ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การซื้อขายระหว่างประเทศ เป็นไปอย่างเรียบร้อยตามกติกา ICC หรือสภาหอการค้านานาชาติ จึงได้ออกกฎระเบียบเพื่อใช้เป็นข้อบังคับระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือที่เรียกว่า Incoterms ขึ้นมา
Incoterms ย่อมาจาก International Commercial Terms หมายถึง ข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสากล มีไว้ใช้สำหรับทำการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งตามปกติแล้วทุกๆ 10 ปี จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์การค้า
สำหรับฉบับล่าสุดคือ Incoterms 2020 เป็นฉบับที่มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่จากปี 2010 และเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นมา ซึ่งใจความสำคัญของ Incoterms 2020 อยู่ที่กฎระเบียบ 11 ข้อ ที่สามารถนำมาอ้างอิงและใช้ได้ ทั้งกับการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ICC ได้ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ขายและผู้ซื้อในเรื่องต่างๆ เอาไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบ การรับมอบสินค้า ความเสี่ยงภัยของสินค้า การขนส่ง การประกันภัย เอกสารที่เกี่ยวกับการจัดส่งและการบรรทุก การทำพิธีการส่งออกและนำเข้า การตรวจสอบสินค้า ฯลฯ เป็นต้น
Max Logistics ขอรวบรวมใจความสำคัญของ Incoterms 2020 ทั้ง 11 กฎ ดังต่อไปนี้
- EXW (Ex-Works) คือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า โดยผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ของผู้ขาย และผู้ซื้อจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากสถานที่ของผู้ขายไปยังประเทศของผู้ซื้อ
- FCA (Free Carrier) คือผู้ขายรับผิดชอบการดำเนินการและค่าใช้จ่ายในการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ที่ทำการขนส่ง (Carrier) ซึ่งจัดเตรียมโดยผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขนส่ง หลังจากนั้น การขนส่งสินค้าไปยังปลายทางและความเสี่ยงต่างๆ จะตกเป็นของผู้ซื้อ
- CPT (Carriage Paid to) เงื่อนไขนี้ ผู้ขายจะทำการส่งมอบสินค้า ให้กับผู้ขนส่ง (Carrier) ที่กำหนดโดยผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขนส่งสินค้าต้นทาง ผู้ขายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า (Freight) ขณะที่ค่าความเสี่ยงเป็นของผู้ซื้อเมื่อสินค้าถูกส่งให้กับผู้ขนส่งที่ต้นทาง
- CIP (Carriage and Insurance Paid to) ผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ขนส่ง (Carrier) ที่กำหนดโดยผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขนส่งต้นทาง และค่าใช้จ่ายในการทำพิธีการส่งออก ค่าระวางขนส่งสินค้า (Freight) และค่าประกันภัยสินค้า (Insurance) ให้ด้วย แต่ความเสี่ยงเป็นของผู้ซื้อตั้งแต่ส่งมอบสินค้าให้ผู้ขนส่ง
- DAP (Delivered at Place) เงื่อนไขนี้ ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ยกเว้น ภาษี และพิธีการนำเข้า และรับความเสี่ยงทั้งหมดในการขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ปลายทางที่ตกลงกันไว้
- DAT (Delivered At Terminal) เงื่อนไขนี้ ผู้ขายทำการส่งมอบสินค้า โดยรับผิดชอบทั้งค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงทั้งหมดไปจนถึงการขนถ่ายสินค้าลงจากยานพาหนะไปยังอาคารขนถ่ายสินค้า ในท่าเรือหรือปลายทางที่ระบุไว้
- DDP (Delivered Duty Paid) คือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบ ณ สถานที่ของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ขายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากสถานที่ของผู้ขายไปยังสถานที่ของผู้ซื้อ
- FAS (Free Alongside Ship) ผู้ขายจัดการรับผิดชอบการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าไปยังกาบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่การนำของขึ้นเรือ การทำพิธีการส่งออก การขนส่งสินค้า รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ จะตกเป็นของผู้ซื้อทันทีที่สินค้าถูกส่งมอบไปยังกาบเรือ
- FOB (Free on Board) คือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบเมื่อสินค้าวางบนเรือที่ท่าเรือต้นทาง (on board the vessel) และผู้ขายต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายพิธีการส่งออกด้วย ส่วนผู้ซื้อจะเป็นผู้รับภาระในการทำสัญญาการขนส่งและจ่ายค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางไปยังท่าเรือปลายทาง (ค่าระวางเรือ) รวมถึงรับความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าจากจุดส่งมอบ (ท่าเรือต้นทาง) ซึ่งผู้ซื้อควรทำประกันภัยในการขนส่ง
- CFR (Cost and Freight) ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกาบเรือไปบนเรือสินค้า และรับผิดชอบในการทำพิธีการส่งออก รวมถึงจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า (Freight) ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าประกันภัยขนส่งสินค้า และความเสี่ยงหลังจากสินค้าผ่านกาบระวางเรือขึ้นไปบนเรือ ตกเป็นของผู้ซื้อ
- CIF (Cost Insurance and Freight) คือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า ที่ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบเมื่อสินค้าวางบนเรือที่ท่าเรือต้นทาง (On Board the Vessel) และผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายพิธีการส่งออก รวมทั้งทำสัญญาการขนส่ง จ่ายค่าขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางไปยังท่าเรือปลายทาง (ค่าระวางเรือ) และค่าประกันภัยขนส่งสินค้า หรือ FOB + ค่าระวางเรือ + ค่าประกันภัยขนส่งสินค้า เพื่อคุ้มครองสินค้าระหว่างเดินทางจนกว่าสินค้าจะถึงมือผู้ซื้อ
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าทั้ง 11 กฎนี้ จะมีสิ่งสำคัญ 3 อย่างที่กำหนดไว้คือ ภาระหน้าที่ของผู้ขายและผู้ซื้อ กฎแต่ละข้อจะบอกไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ส่งออกต้องทำอะไรบ้าง และผู้นำเข้าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อทำให้การซื้อขายนี้สำเร็จลุล่วง การรับผิดชอบความเสี่ยง เช่น เมื่อสินค้าไปอยู่ในขั้นตอนไหน ใครต้องเป็นคนรับผิดชอบกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสินค้า และค่าใช้จ่าย ใครต้องเป็นผู้จ่ายค่าอะไรบ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้การซื้อขายระหว่างกันเป็นไปอย่างมีแบบแผนและราบรื่น ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน