Freight Forwarder โดยปกติแล้วเมื่อผู้นำเข้าสินค้าได้นำสินเข้ามาในราชอาณาจักร และได้ยื่นข้อมูลใบขนสินค้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรแล้ว ผู้นำของเข้าจะต้องดำเนินการชำระค่าภาษีอากร และค่าธรรมเนียมศุลกากรให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะดำเนินการรับการตรวจปล่อยของออกจากอารักขาศุลกากร
ในกรณีที่ผู้นำเข้าสินค้าด้วยตนเอง ไม่ผ่านตัวแทนขนส่งหรือ Freight Forwarder อาจมีคำถามที่พบได้บ่อยๆ เช่น การชำระค่าภาษีอากร และค่าธรรมเนียมศุลกากร สามารถชำระได้ที่ช่องทางใดบ้าง ?
Max Logistics ได้รวบรวมข้อมูลอัปเดตจากกรมศุลกากร พบว่า ปัจจุบัน ผู้นำเข้าสามารถชำระค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมศุลกากรได้จาก 3 ช่องทาง ดังต่อไปนี้
1. ชำระด้วยตนเอง
สามารถชำระด้วยตนเอง ที่หน่วยรับชำระเงินของกรมศุลกากร โดยสามารถชำระด้วย
1.1 เงินสด หรือ บัตรภาษี
1.2 บัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต
– บัตรเดบิตจะไม่เสียค่าบริการ
– บัตรเครดิตของทุกธนาคาร อัตราค่าธรรมเนียมของธนาคารขึ้นอยู่กับที่ธนาคารกำหนด
1.3 เช็ค (Cheque) ของผู้ประกอบการ ที่มีธนาคารค้ำประกัน และได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากร หรือแคชเชียร์เช็ค (ไม่สามารถนำเช็คส่วนตัวมาชำระภาษีได้)
– การสั่งจ่าย ให้ขีดคร่อม และขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” ออก
– ให้สั่งจ่ายในชื่อของ”กรมศุลกากร (พักรายได้) โดย ……(ชื่อผู้นำของเข้า / ผู้ส่งของออก / อื่น ๆ …”
หากเป็นภาษาอังกฤษให้ใช้ ” The Customs Department (Suspension) by …(name of importer/exporter or etc.)…” (ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 19/2552 ลงวันที่ 9 เมษายน 2552) * ห้ามสั่งจ่ายค่าภาษี รวมกับค่าธรรมเนียมการผ่านพิธีการศุลกากร
-การสั่งจ่ายค่าธรรมเนียม ให้สั่งจ่าย “กรมศุลกากร โดย ชื่อผู้นำเข้า / ผู้ส่งออก………………….”
เมื่อชำระเงินแล้ว เจ้าหน้าที่ ณ หน่วยการเงินจะออกใบเสร็จรับเงิน กศก. 122 การแก้ไข หรือขอจำลองใบเสร็จรับเงิน ต้องยื่นคำร้องขอดำเนินการกับหน่วยงานที่รับชำระค่าภาษีอากร
2. ชำระเงินในระบบ e-Payment
ชำระเงินค่าภาษีอากร พร้อมกับการส่งข้อมูลใบขนสินค้า เพื่อตัดบัญชีธนาคารของผู้นำเข้า / ผู้ส่งออก หรือ ตัวแทนออกของ ตามที่ได้แจ้งชื่อ ” ธนาคารเพื่อการขอชำระภาษีอากร และ / หรือ ขอคืนเงินอากร ” ไว้ในทะเบียนผู้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยมีขั้นตอน ดังนี้
⇒ ผู้นำเข้า/ผู้ส่งออก ส่งข้อมูลใบขนสินค้า และแจ้งความประสงค์ขอชำระค่าภาษีอากรผ่านระบบ e-Payment
⇒ กรมศุลฯ รับข้อมูลและแจ้งไปยังระบบธนาคาร
⇒ ธนาคารตัด บ/ช เงินฝาก และแจ้งกลับไปยังกรมศุลฯ
⇒ กรมศุลฯ ให้เลขที่รับชำระในใบขนสินค้ากับผู้นำเข้า / ผู้ส่งออก
⇒ ผู้นำเข้า / ผู้ส่งออก พิมพ์ใบเสร็จรับเงินจากระบบ e-Tracking เป็นใบเสร็จรับเงิน กศก.123 หรือร้องขอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรพิมพ์ให้ (เสียค่าธรรมเนียม)
ผู้นำเข้า / ผู้ส่งออก หรือตัวแทนออกของ ที่มีชื่อในใบขนสินค้า สามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมศุลกากรผ่านระบบ e-Tracking โดยจะได้ใบเสร็จรับเงิน กศก. 123
3. ชำระเงินในระบบ e-Bill Payment
คือการใช้เอกสารตามที่กรมศุลกากรกำหนด ซึ่งมี QR Code หรือ Bar Code หรือเลขอ้างอิงตามที่ปรากฏในเอกสารนั้นๆ ไปชำระเงินค่าภาษีอากร ณ เคาน์เตอร์ของธนาคาร หรือ Internet Banking หรือ ATM หรือช่องทางการรับชำระเงินอื่นๆ ของธนาคารที่ทำความตกลงกับกรมศุลกากร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารไทยพานิชณ์
โดยสามารถชำระผ่านทางช่องทางต่อไปนี้
⇒ Mobile Banking
⇒ Internet Banking
⇒ ATM
⇒ Bank Counter
หรือ ผ่านตัวแทนรับชำระเงิน ที่ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิชของ 7-11 และ Big C
ผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก หรือตัวแทนออกของ สามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมศุลกากร ผ่านระบบ e-Tracking โดยจะได้ใบเสร็จรับเงิน กศก. 123
หมายเหตุ
เอกสารที่ต้องการชำระภาษีอากร ธรรมเนียมศุลกากร รายได้อื่น หรือเงินประกันของกรมศุลฯ
จะต้องเป็นเอกสารที่มี QR Code / Bar Code และเลขที่อ้างอิง 1 (Reference 1 ), เลขที่อ้างอิง 2 (Reference 2) ที่รองรับการชำระผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารหรือตัวแทนรับชำระ (Bill payment) ของกรมศุลฯ เท่านั้น
ข้อมูล : กรมศุลกากร