นำเข้าสินค้าจากจีนทุกครั้ง ทางผู้นำเข้าต้องมีการเสียภาษีและค่าอากรนำเข้าตามกฎหมาย ซึ่งมูลค่าของทั้งภาษีและอากรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับมูลค่าสินค้าที่นำเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอาจมีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าบางอย่าง เช่น การนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ในปัจจุบัน กรมศุลกากรยังคงให้ยกเว้นการเสียภาษีและอากรขาเข้า ทั้งนี้ ภายในปีนี้ จะมีการพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าในประเทศ จึงอาจมีการกำหนดใหม่โดยให้เสียภาษี 7% ของสินค้านำเข้า ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่จับตากันต่อไป
อย่างไรก็ดี วันนี้ Max Logistics มีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าอากรในการนำเข้าสินค้าจากจีนสำหรับเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับผู้นำเข้าทราบ โดยเราได้รวบรวมเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
- ค่าอากรนำเข้า-ส่งออก หมายถึง เงินรายได้ของประเทศที่กฎหมายกำหนดให้กรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บจากการนำเข้าสินค้าหรือส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรตามพิกัดอัตราศุลกากร โดยจะออกมาในรูปแบบของค่าอากรขาเข้า อากรสรรพสามิต ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ฯลฯ เป็นต้น
- การชำระอากร ต้องยื่นใบขนสินค้าตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด โดยปัจจุบันเป็นการยื่นเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบ E-Paperless อย่างไรก็ตาม ของบางประเภทที่มีการนำติดตัวผู้โดยสารและของที่ส่งไปรษณีย์ ทางกรมศุลกากรกำหนดให้ไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้นำเข้า-ส่งออก
- อัตราภาษีที่เรียกเก็บ บางประเภทเป็นการเรียกเก็บตามสภาพ บางประเภทเรียกเก็บตามราคา และบางประเภทเรียกเก็บทั้งตามสภาพและตามราคา ความแตกต่างกันคือ
- ตามสภาพ หมายถึง อัตราภาษีที่เรียกเก็บตามจำนวน ปริมาณ และปริมาตร
- ตามราคา หมายถึง อัตราภาษีที่เรียกเก็บตามร้อยละของราคาศุลกากร
- สินค้าประเภทใดที่กฎหมายกำหนดให้มีทั้งอัตราตามสภาพและอัตราตามราคา ให้คำนวณทั้ง 2แบบ และให้ชำระอากรตามแบบที่คำนวณอากรได้สูงสุด
- ค่าอากรที่ชำไว้เกิน ผู้นำเข้าสามารถขอคืนเงินได้ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่หากชำระอากรไว้ขาด ทางกรมศุลกากรมีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บอากรที่ขาดได้ตามกำหนดเวลา
- ปัจจุบัน การนำเข้าสินค้าจากจีนได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้า 0% หากผู้นำเข้ามีใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือใบ Form E (ใบ Form E คือใบที่ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศจีน) เนื่องจากไทยกับจีนได้ตกลงทำสิทธิพิเศษทางการค้าอาเซียน-จีนไว้หรือ Asean-China Free Trade Area (ACFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2560 ปัจจุบันมีการยกเลิกอัตราภาษีภายใต้ ACFTA แล้วกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าหรือราว 8,000 กว่ารายการ
- ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทางศุลกากร ต้องเก็บเอกสารที่ใช้ในการศุลกากรตามที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ 5 ปี นับแต่วันนำเข้าสินค้าหรือส่งออกสินค้า ในกรณีที่มีการเลิกกิจการ ต้องเก็บเอกสารไว้อีก 2 ปีนับแต่วันเลิกกิจการ เพื่อให้มีหลักฐานแสดงย้อนหลังในกรณีที่ถูกขอตรวจ
- การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว มีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา
อย่างไรก็ตาม สำหรับมือใหม่หัดนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สามารถศึกษาและอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ขั้นตอนเริ่มต้นธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อจะใช้เป็นแนวทางในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคตอันใกล้